Collocation : ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทย เขียนและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้มาตรฐาน

Collocationsพวกเราเขียนและพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เพราะว่าเราถูกสอนอยู่เพียง 2 ส่วนคือ คำศัพท์ (Vocabulary) และ ไวยากรณ์ (Grammar) แต่ในความเป็นจริง คือ คำศัพท์ในภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นกลุ่มคำ ไม่ใช่นำคำศัพท์แต่ละคำมาเรียงต่อกันเป็นประโยคเหมือนภาษาไทย
ยกตัวอย่างเช่น
“ฉันไปโรงเรียน” ฝรั่งใช้ I go to school. ไม่ใช่ I (ฉัน) go (ไป) school (โรงเรียน)
แต่ “ฉันกลับบ้าน” ฝรั่งใช้ I go home. ไม่ใช่ I go to home.
สุขสันต์วันเกิดแด่เธอ Happy birthday to you. ไม่ใช่ Happy birthday for
( แด่ สำหรับ) you.
เขาผ่านไป ฝรั่งใช้ He passed by. ไม่ใช่ He passed(ผ่าน) away (จากไป)
เพราะ “pass away” แปลว่า ล่วงลับ ตาย
เรามักใช้คำภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยตรงๆ จึงทำให้ฝรั่งไม่เข้าใจ ประโยคภาษาอังกฤษไม่ใช่มีเพียงแค่ ประธาน (Subject) + กริยา (Verb) + กรรม (Object)
แต่ความจริงแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญในการแต่งประโยคภาษาอังกฤษให้ได้มาตรฐาน มี 3 ส่วน คือ
คำศัพท์ (Vocabulary)
+
ไวยากรณ์ (Grammar) = ประโยค (Sentence)
+
Collocation

Collocation คืออะไร
อธิบายง่ายๆ Collocation คือ กลุ่มคำที่ต้องใช้ร่วมกัน หรือ เรียกอีกอย่างว่า “คำปรากฏร่วม” จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น “go to school”, “go home”, “Happy birthday to you”, “pass by”, “pass away” เป็น Collocation
Collocation นั้นไม่เกี่ยวกับหลักไวยากรณ์ เพราะบางกลุ่มคำถึงแม้จะวางสลับตำแหน่ง หรือใช้คำไม่ถูก แต่ ก็ไม่ผิดไวยากรณ์แต่ประการใด แต่การใช้ Collocation ผิด จะทำให้เจ้าของภาษาหรือผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษมากๆ ทราบได้ทันทีว่า เราเป็นคนต่างชาติและใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้มาตรฐาน
คำว่า Collocation มาจากคำภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ col (to do something with something or someone) + location มีคำแปลภาษาไทยว่า “คำปรากฏร่วม” Collocation เป็นการเชื่อมคำ การจัดวางคำ หรือกลุ่มคำ (รวมทั้ง idioms) ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกันในประโยค ที่เจ้าของภาษานิยมใช้ และเห็นว่าถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งคำที่ใช้ร่วมกันนั้น จะใช้คำอื่นแทน หรือสลับตำแหน่งกันไม่ได้ ถึงแม้ว่าคำที่จะใช้แทนจะมีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันก็ตาม
ความจริงทุกภาษาก็มี collocation รวมทั้งภาษาไทย ตัวอย่างเช่น
คำบางคำเมื่อใช้ร่วมกันแล้วสลับตำแหน่งกันไม่ได้ เช่น
Thai collocation…
บ่ายสองโมง ไม่ใช่ สองโมงบ่าย (บ่ายต้องนำหน้าเวลา)
ห้าโมงเย็น ไม่ใช่ เย็นห้าโมง (เย็นต้องตามหลังเวลา)
หรือ ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา (ฝนตกหนัก) ไม่ใช่ ฝนตกไม่ลืมตาลืมหู
คนไทยก็ไม่มีเหตุผล หรือหลักไวยากรณ์ในเรื่องนี้ ทั้งที่บ่ายกับเย็น มีความหมายบอกช่วงเวลาของวันเหมือนกัน หรือ หูกับตาก็เป็นอวัยวะเหมือนกัน แต่สลับตำแหน่งกันไม่ได้
English collocation…
It rains cats and dogs.
ประโยคนี้เป็นสำนวน (idiom) แปลว่า ฝนตกหนัก
คำว่า cats and dogs เป็น collocation
เราไม่สามารถ เขียนเป็น dogs and cats หรือ cats and cows ได้
คำบางคำเมื่อใช้ร่วมกัน ความหมายก็เปลี่ยนไป เช่น
Thai collocation…
หินอ่อน คือ marble ไม่ใช่ หินนุ่ม หินนิ่ม หรือ soft rock
ตัดถนน แปลว่า ทำถนนสายใหม่เพิ่ม ตัด แปลว่า ทำให้สั้นลง ลดลง แยกออกจากกัน
English collocation…
The cloth has fast colour. (ผ้าสีไม่ตก)
เราจะทราบกันโดยส่วนใหญ่ว่า fast แปลว่า “เร็ว”
คำว่า stable หรือ durable ซึ่งแปลว่า “ทนทาน” น่าจะใกล้เคียงกว่า
แต่เจ้าของภาษาไม่ใช้คำว่า stable colour หรือ durable colour
ดังนั้นจึงต้องใช้คำว่า fast colour ตามเจ้าของภาษา ดังนั้นคำว่า fast colour จึงเป็น collocation
คำบางคำความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน แต่ใช้แทนกันไม่ได้ เช่น
Thai collocation…
ย่านธุรกิจ ไม่ใช่ เขตธุรกิจ
เขตป่าสงวน ไม่ใช่ ย่านป่าสงวน
พื้นที่สีเขียว ไม่ใช่ เขต/ย่าน สีเขียว
English collocation…
คำว่า strong กับ powerful มีความหมายใกล้เคียงกัน
แต่ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า strong wind, strong competition
และ powerful machine, powerful engine, powerful weapon
เราไม่สามารถใช้ strong machine หรือ powerful wind ได้

ความสำคัญของ Collocation
Collocation เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ถูกละเลย ไม่ได้รับความสำคัญในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่ Collocation ถูกใช้ในการเขียนภาษาอังกฤษ มากถึง 60-80% ดังนั้น การเน้นให้ท่องจำศัพท์เป็นคำๆ มากๆ จึงไม่ทำให้เราเรียนภาษาอังกฤษเก่งขึ้น เท่ากับการฝึกให้จดจำศัพท์เป็นกลุ่มคำ (Collocations) ศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป มีไม่ถึง 4,000 คำ แต่ Collocations หรือกลุ่มคำศัพท์ที่ใช้ร่วมกับคำศัพท์เหล่านั้น มีมากมายหลายหมื่น Collocations ดั้งนั้น หากเรารู้ Collocations หลายหมื่น Collocations ก็เท่ากับว่า เราสามารถแต่งประโยคที่ถูกต้องได้มากมายนับไม่ถ้วน
ข้อควรระวังที่สำคัญยิ่ง พวกเราหลายคน ชอบเขียนภาษาอังกฤษแบบแปลตรงตัวจากไทยเป็นอังกฤษ ซึ่งอาจมีการใช้ Collocation ผิด ทำให้ความหมายผิดไปด้วย ตัวอย่างเช่น
1. เธอเป็นคนใจเย็น
Correct: She is cool-tempered.
Wrong: She is cold-hearted. (เธอเป็นคนใจร้าย)
2. เขาผ่านไป
Correct: He passed by.
Wrong: He passed away. (เขาเสียชีวิต)
3. เขาทานยา
Correct : He takes medicine.
Wrong: He takes drugs.(เขาติดยาเสพติด)
4. บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
Correct: The house looks east.
Wrong: The house turns to east.
5. เธอเป็นคนง่ายๆ
Correct: She is easy-going.
Wrong: She is an easy woman. (เธอเป็นผู้หญิงใจง่าย)

Credit : TOEFL IELTS TOEIC อุบลราชธานี

Leave a Reply