TIT FOR TAT แปลว่าอะไร

“หนามยอก (ต้องเอา) หนามบ่ง”

ความหมาย

การกระทำโต้ตอบ หรือ แก้แค้นด้วยวิธีเดียวกันกับที่คนอื่นเคยทำต่อเราไว้

รูปคำ

สำนวนอังกฤษ นามวลี; สำนวนไทย ประโยค

ตัวอย่าง

The reason I didn’t invite her to the party was that on the last three evenings we ar­ranged to meet she never arrived. It was tit for tat.

(Longman Dictionary of English Idioms)

หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง เขาเคยแกล้งเราโดยเอาขยะมาทิ้งหน้าบ้านของเรา คราวนี้เราจะต้องเอาขยะไปทิ้งหน้าบ้านเขาบ้าง

คำอธิบาย

สำนวนอังกฤษ “tit for tat” มาจาก ‘tip for tap’ คำ ‘tip’ และ ‘tap’ หมายถึงตี (blow) สำนวนนี้ จึงมีความหมายเท่ากับ ‘blow for blow’ ใช้เป็นสำนวน หมายถึง ทำโต้ตอบคนที่เคยทำไม่ดีต่อเราไว้ด้วยวิธีเดียวกัน เช่น ถ้าเขาตีเรา เราก็ตีเขากลับ

สำนวนไทย ‘’หนามยอก (ต้องเอา) หนามบ่ง” คงจะมาจากการเดินป่า เมื่อถูกหนามตำ ไม่มีเข็มก็ต้อง เอาหนามบ่ง บางคนก็เชื่อว่า ถ้าเอาเข็มบ่งอาจจะเป็นหนองเพราะเข็มเป็นโลหะ คนโบราณจึงนิยมใช้หนามบ่งหนาม ต่อมาสำนวนนี้ใช้หมายถึงวิธีแก้ที่ต้นเหตุ คือ เหตุเกิดที่ไหนก็ไปแก้ที่นั่น เหมือนหนามที่ตำทำให้เราเจ็บ หากใช้หนามบ่งมันออกมาให้หายเจ็บ แต่ปัจจุบันเราใช้หมายถึงวิธีแก้แค้นด้วย คือ ใครทำเราด้วยวิธีไหน เราก็ทำตอบแทน หรือ แก้แค้นด้วยวิธีเดียวกัน เป็นการ ล้างแค้นกันไป

สำนวนอังกฤษ “pay back in his own coin” มีความหมายเหมือนกับ “tit for tat” คงจะมาจากการที่เจ้าของร้านคืนเหรียญที่ไม่ดี (อาจจะปลอม) ซึ่งลูกค้าเพิ่งจะเอามาจ่ายให้กลับคืนไปทันที เช่น My neigh­bour often kept me awake with his noisy radio, so I paid him back in his own coin by turning mine on very loudly when I knew he was trying to sleep in the afternoon.

(Common English Sayings)

สำนวนอังกฤษอีกสำนวนหนึ่งคือ “a dose (taste) of one’s own medicine” มีความหมายทำนองเดียวกันนี้ หมายถึงการทำไม่ดีต่อคนที่เคยทำไม่ดีต่อเราไว้ด้วย วิธีเดียวกัน เช่น My boyfriend always arrives late. Last night I decided to give him a dose of his own medicine by keeping him waiting for half an hour.

(Longman Dictionary of English Idioms)

สำนวนไทย “แก้เผ็ด” คำ ‘เผ็ด’ หมายถึง รสเผ็ด ถ้าเรากินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนมาก เราจะต้องหาของหวานหรือของเย็นกินแก้ให้ทุเลาจากความรู้สึกเผ็ดร้อนนั้น คำ ‘เผ็ด’ เมื่อใช้เป็นสำนวนหมายถึง ความรู้สึกทางใจ ความรู้สึกเจ็บแสบกระเทือนใจ เมื่อรู้สึกเจ็บใจ ก็อยากที่จะกระทำทดแทน ฉะนั้นสำนวน “แก้เผ็ด” จึงหมายถึง การทำตอบแทนให้หายเจ็บใจ สำนวนนี้มีความหมายกว้างกว่าสำนวนอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพราะมิได้บ่งว่าจะต้องเป็นการทำโต้ตอบด้วยวิธีเดียวกันกับที่เขาได้ทำกับเราไว้ เช่น เขาทำให้เธอโกรธ เธอจึงแก้เผ็ด เขาด้วยการไม่ยอมไปดูหนังด้วย

Cr: http://www.engisfun.com/

Leave a Reply