ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ส่วนประเทศไทยนิยมใช้สำหรับอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ตะเกียบอาจทำมาจากไม้ หรือโลหะหรือพลาสติก แต่ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเป็นตะเกียบไม้ ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาทำตะเกียบ คือไม้ไผ่ ไม้โมกข์ และ ไม้ฉำฉา เนื่องจากมีสีขาว เนื้อละเอียด ไม่ทำให้อาหารมี สี กลิ่น รส ผิดเพี้ยนไป แต่รู้หรือไม่ ตะเกียบพวกนี้อาจมีสารอันตราย!
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนว่า สารดังกล่าว คือ สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อฟอกเนื้อไม้ให้ขาวและป้องกันเชื้อรา ปัจจุบันร้านอาหารนิยมใช้ตะเกียบไม้แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อความสะดวกและเพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันเชื้อโรคติดต่อระหว่างกันได้ ทั้งนี้เคยมีข่าวที่ประเทศไต้หวันตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในตะเกียบ เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งประเทศไต้หวันได้กำหนดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur dioxide) เป็นสารเคมีในกลุ่มซัลไฟต์หรือที่รู้จักกันว่าสารฟอกขาวที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อนในกระบวนการผลิตและสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ ราและบักเตรีได้ดี สามารถนำสารนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเป็นวัตถุกันเสีย และเป็นสารป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอาหาร ผักผลไม้อบแห้ง วุ้นเส้นและ ลูกกวาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้สารนี้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น นำไปใช้ผสมในน้ำยาอัดรูป ฟอกสีผ้า กระดาษและสบู่ เป็นต้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อใช้ในปริมาณต่ำ แต่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่แพ้ง่าย เช่น ทำให้เกิดโรคหืด มีอาการแน่นหน้าอก คันคอ หรือเป็นผื่นคัน และเป็นแผลพุพอง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าการบริโภคในแต่ละวันที่ได้รับหรือค่า ADI ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน
นพ.อภิชัย กล่าวว่า ในปี 2548 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้เก็บตัวอย่างตะเกียบไม้แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ 11 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ โดยชุดทดสอบภาคสนาม ไม่พบสารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต่อมาในปี 2550 ได้สุ่มตรวจตะเกียบ 8 ตัวอย่าง และไม้จิ้มฟัน 2 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบทั้ง 8 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 19.4- 256.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนไม้จิ้มฟันตรวจพบ 1 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 4.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อทดสอบการละลายของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ออกมาจากตะเกียบโดยการนำมาแช่ในน้ำเดือดเป็นเวลา 5 นาทีแล้วนำน้ำมาตรวจวิเคราะห์พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ละลายออกมาอยู่ในช่วง 2-91.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในตะเกียบ แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายของประเทศไต้หวันพบว่าปริมาณที่พบไม่เกินมาตรฐาน
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังดำเนินการตรวจการตกค้างของสารฟอกขาวในตะเกียบซ้ำอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน 2559 นี้ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากสถานที่จำหน่ายทั้งตลาดสด ตลาดค้าส่ง และค้าปลีก ตรวจวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตะเกียบ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการเฝ้าระวังได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่จะมีผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือคนที่แพ้ง่ายจะมีอาการทันที ดังนั้น ผู้บริโภคที่ใช้ตะเกียบในการบริโภคอาหาร จึงควรสังเกตหากพบว่าตะเกียบมีเนื้อไม้ขาวจัดและมีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรใช้หรืออาจไปใช้ตะเกียบแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งสามารถล้างให้สะอาดได้ก่อนใช้
ร้ายกว่านั้น เราชาวไทยขาดไม่ได้ ต้องใช้กันทุกวันในการรับประทานอาหาร หรือคีบอะไรสักอย่างเข้าปาก ถามว่ามีใครเคยรู้ไหมว่าวิธีการผลิต ตะเกียบ นั้นเป็นอย่างไร ไปชมขั้นตอนการผลิตตะเกียบจากบริษัทแห่งหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้าน เรามาชมกันเลยดีกว่าครับ
ม
จาก: มติชนออนไลน์ และภาพจากกูเกิ้ล