​ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ต้องระวัง

เป็นที่ทราบกันดีว่าหากวัดระดับความดันโลหิตแล้วปรากฎว่าสูงกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท นั่นแสดงว่าคุณตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้มากมาย แม้ว่าคนที่เป็นความดันโลหิตสูงอาจจะไม่มีการแสดงอาการใดๆ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะทำให้หัวใจโต และหัวใจวายได้ในที่สุด ผลจากความดันก็ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคกับอวัยวะนั้น เช่นโรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น
ภาวะความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่งที่ทำร้ายเราได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข ถ้าไม่อยากให้ความดันโลหิตสูงมาเยือน เบื้องต้นก็ควรควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ประกอบไปด้วยผัก ผลไม้ และมีเกลือน้อย

ความดันโลหิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.  อายุ 

ส่วนมากความดันโลหิตจะสูงขึ้นตามอายุ เด็กโตมีความดันโลหิตสูงกว่าเด็กเล็ก ในวัยผู้ใหญ่ ความดันมักสูงกว่าวัยหนุ่มสาว แต่ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าความดันโลหิตต้องเพิ่มขึ้นตามอายุเสมอไป ในปัจจุบันถือว่า ไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตาม ถ้ามีความดัน 140/90 มิลลิเมตรของปรอทหรือมากกว่า ถือว่าเป็นภาวะความดันโลหิตสูง ควรต้องรับการรักษา

2.  เวลา 

ความดันโลหิตจะไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน มีการขึ้น ๆ ลง ๆ ในเวลานอนหลับ ความดันซีลโตลิก (ค่าความดันตัวแรก) มักจะลดลงต่ำสุดจนเหลือเพียง 60 – 70 มิลลิเมตรปรอท แต่พอตื่นขึ้นความดันนี้จะสูงขึ้นเป็น 130 มิลลิเมตรปรอท เป็นต้น

3.  จิตใจและอารมณ์ 

ทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและอยู่ได้นานได้ เช่น คนที่เพิ่งทะเลาะกับคนอื่นด้วยความโกรธ ความดันโลหิตขึ้นไปสูงกว่าเดิม 30 มิลลิเมตรปรอท และคงอยู่เช่นนั้นหลายชั่วโมง รวมทั้งความเจ็บปวดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตขึ้นเร็วด้วย

4.   กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม 

มีส่วนช่วยทำให้เป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียดก็ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคนี้สูงมากขึ้น

 5.  เชื้อชาติ 

เป็นที่ทราบกันดีมานานแล้วว่า อุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูงในพวกแอฟริกัน-อเมริกัน นั้นสูงและรุนแรงกว่าอเมริกันผิวขาว

 6.  ปริมาณเกลือที่รับประทาน 

มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูงด้วย กล่าวคือ ผู้ที่รับประทานเกลือมากจะพบว่ามีความดันสูงกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อยกว่า

ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดจะต้องลดเกลือ เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเช็คความดันโลหิตทุก 6 เดือน 

ขอขอบคุณที่มา : เพจสุขภาพดี