โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder : OCD)

โรคย้ำคิดย้ำทำ มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

          อาการย้ำคิด (obsessive) : การมีความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองซ้ำๆ โดยไร้เหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตนไม่สบายใจ (ego-dystonic) เช่น คิดซ้ำๆ ว่าจะทำร้ายหรือทำสิ่งไม่ดีกับคนที่ตนรัก คิดซ้ำๆ ว่าลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดซ้ำๆ ว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล๊อคประตู เป็นต้น โดยผู้ป่วยเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุจึงเกิดความคิดเช่นนั้น

          อาการย้ำทำ (Compulsive) : การกระทำอย่างมีเป้าหมายชัดเจนซ้ำๆ เพื่อป้องกันหรือช่วยลดความไม่สบายใจจากความย้ำคิดข้างต้นและเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล เช่น เซ็คลูกบิดประตูหรือวาล์วแก๊สซ้ำๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปิดเรียบร้อยแล้ว ล้างมือซ้ำ เพราะคิดว่ามือสกปรก เป็นต้น

ลักษณะอาการทางคลินิก

          ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคทางกายมากว่าที่จะมาพบกับจิตแพทย์โดยตรง อาการที่นำมาพบแพทย์ได้บ่อยๆ เช่น แผลถลอกที่มือ มือเปื่อย เหงือกอักเสบจากการแปรงฟันบ่อยๆ ในผู้ป่วยเด็กพ่อแม่อาจพามาตรวจด้วยปัญหาพฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็ก

          ในผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์โดยตรง มักจะมาด้วยอาการย้ำคิดเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย พฤติกรรมทางเพศ และพฤติกรรมรุนแรง และอาการย้ำทำ เช่น ตรวจเช็คกลอนประตู ถามเรื่องเดิมซ้ำซาก ล้างมือ นับสิ่งของ การจัดวางของให้เป็นระเบียบซ้ำๆ ในผู้ป่วยบางรายจะมาด้วยอาการมีการย้ำคิดหลายๆเรื่อง หรือย้ำทำหลายๆ พฤติกรรม ซึ่งทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก

การวินิจฉัย

          1. มีอาการคิดซ้ำๆ ทำซ้ำๆ ในลักษณะที่จัดได้ว่าเป็นอาการย้ำคิด หรือ อาการย้ำทำ

          2. ผู้ป่วยรู้สึกว่าอาการที่เป็นนั้น เป็นมากเกินควร หรือไร้เหตุผล

          3. อาการก่อให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยอย่างมาก จนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

          4. อาการย้ำคิดย้ำทำ จะต้องไม่จำกัดอยู่กับเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังเช่นใน trichotillomania และ hypochondriasis

สาเหตุ

          1. ปัจจัยด้านจิตใจ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์มองว่าอาการเกิดจากการที่ผู้ป่วยใช้กลไกทางจิตเพื่อจัดการกับความขัดแย้งในระดับจิตไร้สำนึก โดยกลไกทางจิตที่ใช้ ได้แก่ isolation และ undoing

 

          2. ปัจจัยด้านชีวภาพ พบว่าในผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ มีความผิดปกติของระดับ 5-HIAA ซึ่งเป็น  serotonin metabolites ใน CSF และสมองส่วน frontal lobe, caudate และ cingulum มีการทำงานเพิ่มมากกว่าปกติ พบว่าพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

การวินิจฉัยแยกโรค

          1. อาการย้ำคิดย้ำทำทั่วไปในคนปกติอาจพบได้ แต่จะเกิดขึ้นและทำไปอย่างสมเหตุสมผล ทำเพื่อความรอบคอบ ไม่สูญเสียหน้าที่การงาน หรือรบกวนต่อชีวิตประจำวัน

          2. โรคทางสมองต่างๆ เช่น tic disorder , temporal lobe epilepsy ซึ่งมีอาจมีพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ

          3. ผู้ป่วยโรคจิตเภทบางรายที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ แต่มักมี bizarre delusion, hallucination ร่วมด้วย

          4. Obsessive-compulsive personality disorder เป็นบุคลิกนิสัยส่วนตัวมาแต่เด็ก เช่น เป็นคนที่รักความสะอาด รักความเป็นระเบียบ ผู้ป่วยเองไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

การดำเนินโรค

          ส่วนใหญ่อาการมักเป็นอย่างเฉียบพลัน ร้อยละ 50-70 มีความเครียดนำมาก่อน เช่น การตั้งครรภ์ ปัญหาทางเพศ ญาติหรือคนใกล้ชิดตายจากไป

          โดยมากโรคนี้เป็นเรื้อรัง แต่ผู้ป่วยบางรายจะเป็นๆ หายๆ หลังจากได้รับการรักษาแล้ว ร้อยละ 30 อาการจะดีขึ้นมาก ร้อยละ 50 อาการดีขึ้นจนพอจะใช้ชีวิตได้เกือบปกติ และร้อยละ 20 อาการคงเดิมหรืออาจจะแย่ลง

          กลุ่มที่การพยากรณ์โรคไม่ดี ได้แก่ ผู้ป่วยที่คุมอาการย้ำทำไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการย้ำทำแปลกๆ มีอาการตั้งแต่ยังเด็ก ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีโรคซึมเศร้าร่วมด้วย มีพื้นฐานความเชื่อแปลกๆ และมีปัญหาบุคลิกภาพร่วมด้วยโดยเฉพาะ schizoid personality disorder

การรักษา

          การรักษาที่ดีที่สุด คือ การใช้พฤติกรรมบำบัด ร่วมกับยาแก้ซึมเศร้า

          1. จิตบำบัด

          พฤติกรรมบำบัด ให้เผชิญ (exposure) กับสิ่งที่กังวลหรือกลัวอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ร่วมกับการพยายามไม่ให้สนใจอาการของโรค และหาวิธีป้องกันการกระทำซ้ำๆ (response prevention)

          Supportive psychotherapy โดยพยายามส่งเสริมผู้ป่วยกลับไปทำหน้าที่ตามเดิมให้ได้มากที่สุด

         

2. การรักษาด้วยยา

          ให้เริ่มรักษาด้วย SSRI เช่น fluoxetine 20-80 มก./วัน ถ้าไม่ได้ผลให้เปลี่ยนไปใช้ SSRI ขนาดที่สอง ถ้าใช้ขนาดสูงสุดของยาขนานนั้นๆ แล้วไม่ได้ผล จึงเริ่มใช้ clomipramine ซึ่งเป็นยาแก้ซึมเศร้าชนิด tricyclic โดยให้ขนาดเริ่มต้น 25-50 มก./วัน และเพิ่มขนาดยา 25 มก./วันทุกสัปดาห์จนสามารถควบคุมอาการได้ แต่ไม่เกิน 200 มก./วัน

          หลังจากรักษาอาการเป็นปกติแล้ว ยังต้องให้การรักษาต่อเนื่อง (continuous treatment) เพื่อป้องกันการกลับเป็นอีกนาน 6 เดือน จึงหยุดยา

Leave a Reply