ข้อความจาก #หมอมินบานเย็น
หมอเองมีโอกาสดูคลิปยูทูปที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาของดาราเกาหลีที่มีชื่อเสียงหลายๆคน ว่าคนนี้หน้าตาไม่ดีตรงนั้นตรงนี้ หนึ่งในนั้นคือดาราเกาหลีที่คนไทยมากมายชื่นชอบ ก็คือ กงยู เรื่องนี้กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ทำให้รู้สึกสะท้อนใจและได้คิดถึงสภาพความเป็นจริงบางอย่างของคนในสังคม
ส่วนตัวหมอไม่ชอบที่คนที่วิพากษ์วิจารณ์หน้าตาและรูปลักษณะคนอื่น ไม่เกี่ยวว่าคนที่ถูกวิจารณ์จริงๆแล้วจะหน้าตาดีหรือไม่ดี เพราะไม่ว่าคนที่ถูกวิจารณ์จะหน้าตารูปร่างอย่างไร เขาก็ไม่สมควรจะถูกวิจารณ์ที่รูปลักษณ์ภายนอก
เพราะไม่มีใครเลือกได้หรอกว่าจะเกิดมามีหน้าตาหรือผิวพรรณอย่างไร แถมรูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัวตนจริงๆ หรือคุณค่าภายในของคนคนหนึ่งด้วย
แต่น่าเศร้าเพราะเรื่องจริงที่เห็นและเป็นอยู่ เราก็ได้ยินคำพูดวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาที่คนคนหนึ่งมีกับอีกคนหนึ่งกันอยู่บ่อยๆ จนเหมือนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
คำพูดประมาณว่า “ทำไมตัวดำแบบนี้ ไม่ขาวเหมือนแม่” หรือไม่ก็ “ผมทำไมหยิกจัง ทั้งที่พ่อแม่ก็ผมสลวยทั้งคู่นะ” ที่บางคนใช้วิจารณ์เด็กที่เพิ่งจะลืมตาดูโลก
ชีวิตของคนคนหนึ่งที่ต้องได้ยินคำพูดประมาณว่า หูกางจัง ฟันเหยินเชียว หน้าแบน จมูกเบี้ยว หัวเถิก อ้วน เตี้ย ขาสั้น ไม่สวย ไม่หล่อ ฯลฯ คำพูดที่หลายๆคนบอกว่า ก็แค่หยอกเล่นๆ พูดขำๆ ทำไมต้องคิดมาก บางคนให้เหตุผลขนาดว่า พูดเพราะหวังดีนะ จะได้ไปปรับปรุงตัวเอง
สังคมที่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็นิยมความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอก แถมยุคนี้ยังมีอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอินสตาแกรม หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ที่ให้คนมักให้ความชื่นชมกดไลค์กับคนที่หน้าดี รูปร่างผอมสูง ผิวขาว จนเป็นค่านิยม ทำให้เด็กๆหลายคนเติบโตมาด้วยความฝันว่า โตขึ้นจะต้องไปทำศัลยกรรม ให้ใบหน้าสวยงามเป็นแบบพิมพ์นิยม จนบางทีกลายเป็นแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร(เพราะทำมาเหมือนกันไปหมด)
หมอไม่ได้ต่อต้านความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้ต่อต้านการทำศัลยกรรมหรือการทำให้ตัวเองสวยงามดูดี คิดว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ที่หมอไม่ชอบเลย คือการที่คนคนหนึ่งไปวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ภายนอกของอีกคน
ไม่มีใครเลือกเกิดได้ ว่าจะเกิดมามีรูปร่างหน้าตา เส้นผม หรือสีผิวเป็นแบบไหน
สิ่งที่คนเราเลือกได้คือ เลือกที่จะกระทำและปฏิบัติตัวเช่นใดมากกว่า จะดีหรือชั่วไม่ใช่ตัดสินที่หน้าตาแต่ควรมองที่การกระทำ คำพูดและการแสดงออก
แน่นอนว่าผู้ใหญ่ก็ควรทำตัวอย่างให้เด็กได้เรียนรู้และซึมซับ
ถ้าเด็กเติบโตมาในสังคมที่เมื่อเปิดทีวี ดูยูทูบ เจอคนที่ใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามรูปลักษณะภายนอก แถมมองเป็นเรื่องธรรมดา เด็กคนนั้นก็อาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ทำแบบนั้นกับคนอื่น รวมถึงตัวเองเช่นกัน กล่าวคือ ไม่พอใจกับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง และต้องพยายามขวนขวายทำทุกทางให้ตัวเองดูดีที่ภายนอกจนขาดสติ
ทั้งที่ในความเป็นจริง คุณค่าที่อยู่ภายในนั้นมีความสำคัญกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัตินิสัยใจคอ เช่น ความมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจ คิดถึงคนรอบข้าง ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ความขยัน มุ่งมั่นพยายาม
ดังนั้นหากผู้ใหญ่เห็นการกระทำหรือคำพูดในลักษณะนี้ ต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่าเราไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับ ต้องทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ อย่างน้อยๆถ้าผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมีความชัดเจนตรงนี้ เด็กก็จะได้รับการปลูกฝังที่ดี ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน มากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่ได้จีรังยั่งยืน เด็กก็จะมีแนวโน้มเติบโตเป็นคนที่มีความสุขและมีความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย
ขอจบบทความด้วยคำกลอนที่บอกว่า
“คนจะงาม งามที่ใจ ใช่ใบหน้า
คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน
คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน
คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต
คนจะงาม งามที่ใจ ใช่ใบหน้า
งามวาจา งามความคิด งามนิสัย
งามมารยาท งามกิริยา งามน้ำใจ
เช่นนี้ไซร้ จึงจะเป็น คนเต็มคน”
อย่าลืมว่า รูปลักษณ์ภายนอก เราเลือกเองไม่ได้ แล้วแต่กรรมพันธุ์ที่สืบเนื่องกันมา แต่สิ่งที่เราเลือกได้คือ การกระทำ คำพูด การปฏิบัติตัว ว่าเราจะทำในเรื่องที่ดีหรือไม่ การไม่ทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ถ้ามีโอกาสก็ทำประโยชน์ให้สังคมประเทศชาติตามกำลัง นั่นก็เยี่ยมยอดแล้วค่ะ