ตำนานของประเพณีบุญบั้งไฟ ผูกพันกับนิทานพื้นบ้านสองเรื่องคือเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ และเรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของการยิงบั้งไฟเลยทีเดียว ตำนานเรื่องนี้เริ่มจากพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ครั้งนั้น พญาแถน เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ผู้ดลบันดาลให้ฝนตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกเลยตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ชาวเมืองทนไม่ไหวจึงคิดทำสงครามกับพญาแถน แต่สู้พญาแถนกับกองทัพเทวดาไม่ได้ ถูกไล่ล่าหนีมาถึงต้นไม้ใหญ่ที่พญาคันคากอาศัยอยู่ ในที่สุดพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คำมั่นว่า หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันทีและถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญาณแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน พญาแถนก็บันดาลให้ฝนหยุดตก ส่วนตำนานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ มีความโดยย่อ คือ นางไอ่เป็นธิดาพระยาขอมผู้ครองเมืองชะธีตา นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปในนครต่างๆ ทั้งโลกมนุษย์และบาดาล มีชายหนุ่มหมายปองจะได้อภิเษกกับนางมากมาย
ในจำนวนผู้ที่มาหลงรักนางไอ่ มีท้าวผาแดงและท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล ท้าวทั้งสองต่างเคยมีความผูกพันกับนางไอ่มาแต่อดีตชาติ จึงต่างช่วงชิงจะได้เคียงคู่กับนาง แต่ก็พลาดหวัง จึงมิได้อภิเษกทั้งคู่เพราะแข่งขันบั้งไฟแพ้
ท้าวพังคีนาคไม่ยอมลดละ แปลงกายเป็นกระรอกเผือกคอยติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาน หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าที่ไหนกันแน่ มีอยู่ถึง 3 ที่ ได้แก่ หนองหาน ที่ อำเภอ หนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัด สกลนคร
ในตำราอ้างอิงถึงเรื่องผาแดงนางไอ่จบลงด้วยการเกิดเป็นหนองน้ำ ขนาดใหญ่จากการต่อสู้ของพญานาคกับท้าวผาแดง ต่างก็มีข้อมูลอ้างอิงถึง หนองน้ำที่ชื่อหนองหาน แต่กล่าวต่างกันไปในตำราแต่ละเล่มถึงหนองน้ำ ทั้ง3 แห่ง