คำว่า “ไทย” ทำไมต้องมี “ย”

เมื่อถามว่าที่มาของการใช้ ย ในคำว่าไทยตามความหมายที่สองนั้นมาจากไหน จากเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติที่ชื่อว่า “เอกสารสดุดีบุคคลสำคัญ” ได้อ้างถึงข้อวินิจฉัย ๒ ข้อซึ่งนำมาจากไว้ว่าบันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ ดังนี้

“๑. พระเจนจีนอักษร (สุตใจ ตัณฑากาศ):
ก.) คำว่า ไต คงจะเล็งเอาอักษรจีนที่ภาษาแต้จิ๋วอ่านว่า ไต๋ ฮกเกี้ยนอ่านว่า ไต กวางตุ้ง ปักกิ่ง กลาง อ่านว่า ตา หรือ ต๋า ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยน แปลว่า แรกเริ่ม ใหญ่ มหึมา 

ข.) คำว่า ไถ่ คงจะเล็งเอาอักษรจีน ซึ่งภาษาจีนทุกภาษาอ่านว่า ไถ่ ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยนแปลว่า ใหญ่ที่สุด 

หาก ไท เนื่องมาจากภาษาจีนแล้ว ผู้บัญญัติท่านคงเล็งเอาคำว่า ไถ่ เพราะแปลว่าใหญ่ที่สุด และยังเป็นนามสกุลคนโบราณด้วย ครั้นสืบมาหลายชั่วคน คำว่า ไถ่ ก็แผลงเป็น ไท ส่วนคำว่า ไท้ เป็นภาษาไทย แปลว่าผู้เป็นใหญ่ คงแผลงจากคำว่า ไถ่ หรือ ไท 

สำหรับ เหตุผลที่เขียนว่า ไทย (มีตัว ย) หนังสือมูลบทบรรพกิจ ฉบับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) กล่าวว่า คำไม้มลายเป็น 2 อย่าง คำไม้มลายที่มี ตัว ย สะกด คำนั้นเป็นภาษามคธอย่าง หนึ่ง คำที่มีแต่ไม้มลายล้วนด้วยเป็นคำไทยอย่างหนึ่ง 

การเขียนว่า ไท แล้วเอาตัว ย สะกด ก็ยังอ่านว่า ไทย หรือผู้มีอำนาจแผนกอักษรศาสตร์สมัยต่อมา เห็นว่าภาษามคธเป็นภาษาบาลีอันขลัง จึงใช้ ตัว ย สะกดคำว่า ไท ให้เขียนว่า ไทย 

๒. พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล):
ตรวจดูภาษาไทยในจารึกสุโขทัยก่อนหลักที่ 3 มีคำว่า ไท ใช้โดยมีตัว ย แถมก็มี ไม่มีตัว ย แถมก็มี ได้แต่สันนิษฐานโดยประมวลความในจารึก 

สันนิษฐานว่าตัว ย เกิดเมื่อจารึกเป็นภาษามคธ (หลักที่ 6) มีคำว่า ลีเทยฺยนามโก ธมฺมราชา เมื่อเรียงพระนามพระเจ้าแผ่นดินลงเป็นภาษามคธมี ตัว ย แล้ว ภาษาไทยก็เลยใส่ตัว ย ลงไปด้วย เพื่อให้พระนามขึ้นสู่ภาษาอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนับถือกันอยู่มาก

แต่คำว่า ไท ที่มิไช่นามพระเจ้าแผ่นดินยังปล่อยให้ล้นอยู่ก่อน เห็นจะมาเริ่มใส่ตัว ย เติมภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา 

ส่วนคำว่า ไท้ คือ ไท แต่ทำไม ไท้ จึงไม่ถูกเติมตัว ย ข้อนี้ก็ต้องตอบโดยหลักว่าภาษามคธไม่มีไม้ไท และความรู้สึกในเวลานี้ดูเหมือนจะแปลกันว่าคำแทนพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ใช้ในทางแทนเทวดาก็มี”

Leave a Reply